การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพ

ส่วนประกอบสำคัญของรายงานการวิจัยได้แก่

1. บทคัดย่อ (Abstract) – นักวิจัยบางคนไม่เขียนบทคัดย่อในรายงานการวิจัย เราอาจจะเพิ่ม “บทสรุปสำหรับผู้บริหาร” (Executive Summary) เข้ามาหลังจากบทคัดย่อก็ได้ นักวิจัยบางคนไม่เขียนบทคัดย่อในรายงานการวิจัย แต่ใช้บทสรุปผู้บริหารเพียงอย่างเดียว จะทำอย่างนั้นก็ได้ บทสรุปผู้บริหารคือบทคัดย่อชนาดยาว โดยเฉพาะเกี่ยวกับข้อค้นพบในการวิจัย มีความยาวประมาณ 3-5 หน้า

บทคัดย่อมีความยาวประมาณ 300-350 คำ ควรประกอบด้วยข้อความไม่เกิน 4 ย่อหน้าสั้นๆ ที่ให้ข้อมูลสำหรับตอบคำถามต่อไปนี้

– คำถามวิจัยของคุณคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร (หัวข้อ “ที่มาและคำถามการวิจัย”) มีความสมบูรณ์ในตัวเอง อ่านแล้วรู้ว่าอะไรคือคำถามสำคัญ

– คุณดำเนินการอย่างไร เพื่อตอบคำถามนั้น (“ข้อมูลและระเบียบการวิจัย”) อ่านแล้วรู้ว่าอะไรคือข้อมูลและวิธีได้มาซึ่งข้อมูล

– คุณได้ข้อค้นพบสำคัญอะไรบ้าง ที่ตอบคำถามการวิจัยนั้น (“ข้อค้นพบ” หรือ “ผลการศึกษา”) อ่านแล้วรู้ว่าอะไรคือข้อค้นพบสำคัญที่ตอบโจทย์การวิจัยได้

– คุณได้ข้อสรุปอะไรบ้าง จากการวิจัยของคุณ (“สรุปและนัยสำคัญของผลการศึกษา”) ผลทั้งหมดทั้งมวลที่ได้จากการวิจัยมีความหมายและนัยสำคัญอย่างไรต่อการนำไปใช้หรือต่อนโยบายในเรื่องนั้นๆ

บทคัดย่อต้องแสดงจุดเน้นอย่างเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในตัวรายงาน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาตรงกันทั้งสองที่เขียนให้อ่านง่ายและตรงไปตรงมา บทคัดย่อไม่ใช่ที่ที่จะมาอธิบายอะไรเพิ่ม แต่เป็นที่ที่จะแสดงเนื้อหาการวิจัยอย่างสั้นๆ และชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้

เวลาที่ดีที่สุดสำหรับเขียนบทคัดย่อคือตอนที่คุณเขียนส่วนอื่นๆ เสร็จหมดแล้ว

2. บทนำ (Introduction) – บอกผู้อ่านว่า ในการวิจัยนั้น อะไรคือประเด็นสำคัญที่คุณให้ความสนใจ และทำไมประเด็นนั้นมีความสำคัญควรแก่การทำวิจัย เนื้อหาควรครอบคลุมเรื่องสำคัญต่อไปนี้

– ประเด็นการวิจัย (ทำไมประเด็นนั้นจึงมีความสำคัญที่ควรทำวิจัย โดยอ้างข้อมูลหรือหลักฐานสนับสนุนจากการศึกษาที่ผ่านมาพอสมควร)

– ช่องว่างของความรู้ในประเด็นที่ทำวิจัย (ประเด็นที่ศึกษานั้น ยังมีช่องว่าง โดยใช้ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม และการวิจัยจะให้ความรู้เพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้นอย่างไร)

– คำถามและวัตถุประสงค์การวิจัย (การวิจัยนั้นมีคำถามอะไร ที่ต้องการจะหาคำตอบ และในการหาคำตอบนั้น คุณตั้งวัตถุประสงค์ว่าอยากรู้ หรืออยากทำเรื่องอะไรให้ชัดเจนบ้าง)

ในบทนำควรระบุว่าโครงการวิจัยของคุณได้ผ่านการรับรองจริยธรรมแล้ว พร้อมกับอ้างหมายเลขหนังสือรับรอง วัน เดือน ปี และชื่อคณะกรรมการที่ให้การรับรองด้วย

3. ทบทวนวรรณกรรม (Literature review) – มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ (1) เพื่อหาความรู้จากการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องที่คุณจะทำวิจัย เพื่อจะนำมาใช้ประโยชน์และวางจุดยืนการวิจัยของคุณ ภายในบริบทของความรู้ที่มีอยู่ (2) เพื่อเป็นข้อมูลว่า การวิจัยของคุณจะต่อยอดหรือเติมเต็มความรู้ที่มีอยู่แล้วในเรื่องนั้นอย่างไร

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic literature review) และมีเป้าหมายชัดเจน เริ่มจากการคัดเลยงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นที่คุณสนใจให้ดี โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับงานที่ผลิตออกมาใหม่ๆ และควรแบ่งงานเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มๆ ตามประเด็นที่คุณสามารถกำหนดเองได้ เพื่อจะได้รวบรวมความรู้เป็นประเด็นๆ แล้วสำรวจดูว่าในแต่ละประเด็นนั้นองค์ความรู้ที่มีอยู่คืออะไรบ้าง ความรู้เหล่านั้นมาจากบริบทและวิธีการศึกษาที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีความขัดแย้งกันอย่างไรหรือไม่ ฯลฯ วางแผนการนำเสนอประเด็นก่อนหลัง ก่อนจบแต่ละประเด็นคุณจะแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้รู้ในประเด็นนั้นๆ เพียงสั้นๆ ก็ได้ มิฉะนั้นก็เก็บความคิดเห็นของคุณไว้เขียนในตอนท้ายของบททบทวนวรรณกรรมนี้ทีเดียวเลย การสำรวจและตอบคำถามทำนองนี้ เพื่อให้การเขียนบทความทบทวนวรรณกรรมมีลักษณะ ‘วิพากษ์’ (critical) และน่าสนใจ ก่อนจบบทนี้ คุณควรจะเขียนสรุปประมาณ 2-3 หน้าเพื่อให้ข้อมูลว่าอะไรคือสิ่งที่ได้รู้จากงานวิจัยที่ผ่านมา และอะไรคือสิ่งสำคัญแต่ยังไม่มีความรู้ หรือความรู้ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ พร้อมกับบอกว่าการวิจัยของคุณจะเติมเต็มหรือต่อยอดความรู้ที่มีอยู่นั้นอย่างไร ชื่อหัวข้อ ‘ทบทวนวรรณกรรม’ อาจจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นที่น่าสนใจกว่า เช่น “เพศสัมพันธ์ก่อนสมรส: เรารู้อะไร?” โดยจับเอาประเด็นสำคัญในเนื้อหามาตั้งเป็นชื่อบทได้เลย

4. ระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) – การบอกให้รู้ว่าคุณจะใช้วิธีใดและทำอย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับคำถามในเรื่องที่คุณสนใจ

– วิธีการวิจัย ใช้วิธีการอะไร และทำไมถึงเลือก

– กลุ่มตัวอย่างและพื้นที่ศึกษา ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกตัวอย่าง และเกณฑ์ที่ว่านั้นทำให้แน่ใจได้เพียงใดว่า คุณได้ตัวอย่างเป็นคนที่รู้เรื่องดี (key informants) เกี่ยวกับประเด็นที่คุณเก็บข้อมูล ตัวอย่างจำนวนเท่าไหร่ อะไรที่ใช้ตัดสินว่าตัวอย่างเพียงพอสำหรับการวิจัยของคุณ ตัวอย่างที่คุณเลือกมาจากพื้นที่เดียวกันหรือมาจากหลายพื้นที่ นอกจากนี้ควรให้ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของกลุ่มตัวอย่าง (ผู้ให้ข้อมูล) ด้วย

– วิธีการเก็บข้อมูล – บอกวิธีการและเหตุผลทางระเบียบวิธีอย่างเพียงพอ ควรบอกให้เห็นภาพด้วย

– การวิเคราะห์ข้อมูล – บอกรายละเอียดของการวิเคราะห์เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า คุณได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ซอร์ฟแวร์ที่ใช้คืออะไร รุ่นไหน ฯลฯ

5. ข้อค้นพบ (Findings) – สิ่งที่ได้พบจากการวิเคราะห์ที่ได้ทำไว้แล้ว เขียนแบบบรรยายข้อเท็จจริงที่ได้พบ เอาข้อค้นพบมาจัดลำดับเป็นประเด็นๆ ให้เชื่อมโยงกัน อาจสรุปข้อค้นพบเป็นแผนผัง กราฟ หรือตาราง (ความคิดเห็นหรือคำอธิบายสำหรับข้อค้นพบเหล่านั้น ควรเก็บไว้เขียนในบทหรือส่วนที่ว่าด้วยการอภิปราย ที่จะตามมาหลังจากนี้) ข้อค้นพบจะชัดเจนขึ้น ถ้าได้รับการสนับสนุนจากหลักฐาน ที่ยกมาจากคำพูดของกลุ่มตัวอย่างในการสัมภาษณ์หรือการอภิปรายกลุ่ม (เหมือนนักวิจัยเชิงปริมาณเขียนบรรยายข้อค้นพบโดยยกเอาตัวเลขในตารางมาอ้างไปด้วย)

6. อภิปราย (Discussion) – แสดงความคิดเห็นของคุณต่อสิ่งที่คุณพบในการวิจัยนั้น ด้วยการพยายามตอบคำถามง่ายๆ เช่น:

– ทำไมข้อค้นพบคุณจึงเป็นอย่างนั้น การที่ข้อค้นพบของคุณปรากฎออกมาอย่างนั้นเป็นเพราะลักษณะกลุ่มตัวอย่างของคุณ หนือว่าเป็นธรรมชาติของเรื่องนั้นเอง

– ข้อค้นพบของคุณมีนัยสำคัญอย่างไร ภายในบริบทที่คุณศึกษา

– ข้อค้นพบเช่นนั้นมีความหมายอย่างไร สำหรับคนทั่วไป ชุมชน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้อง

– ข้อค้นพบของคุณมีความหมายอย่างไร ในแง่ของการนำไปปฏิบัติ และมีความหมายอย่างไร ในแง่ของการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องนั้น

ต้องพยายามจำกัดอยู่ที่ประเด็นที่มีฐานมาจากข้อค้นพบในการวิจัยของคุณ อย่าตีวงออกไปไกลจนหาจุดเชื่อมโยงกับข้อค้นพบไม่ได้

ในกรณีที่เป็นไปได้ ควรเชื่อมโยงการตีความข้อค้นพบ และความคิดเห็นของคุณ กับความรู้ที่ได้จากการทบทวนการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งคุณได้ทำไว้แล้วในตอนต้นของการวิจัย หรืออาจจะเพิ่มเติมเข้ามาตามความเหมาะสม อาศัยการตกผลึกความรู้ (ทฤษฎี) เกี่ยวกับเรื่องที่ตนศึกษา โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปยังการปฏิบัติหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะที่มีความหมายและเป็นไปได้ (นักวิจัยหลายคนเลือกที่จะรวมการอภิปรายไว้เป็นส่วนหนึ่งของบทเสนอข้อค้นพบ โดยวางส่วนนี้ไว้ตอนท้ายของบทดังกล่าว การทำอย่างนั้นเป็นวิธีที่ดี โดยเฉพาะในกรณีที่มีประเด็นจะอภิปรายไม่มาก)

7. บทสรุป (Conclusion) – สิ่งสำคัญที่สุดในบทนี้ คือ การบอกผู้อ่านว่าอะไรคือข้อค้นพบสำคัญในการวิจัยของคุณ ข้อค้นพบของคุณตอบโจทย์การวิจัยได้หรือไม่เพียงใด การวิจัยของคุณบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และคุณมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาวิจัยต่อไปอะไรบ้างจากการวิจัยนี้ รายการสำหรับตรวจสอบความสมบูรณ์ของบทสรุปมีดังนี้

✔️ข้อค้นพบที่สำคัญของการวิจัย คืออะไร

✔️การวิจัยของคุณตอบคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัยที่ตั้งเอาไว้หรือไม่

✔️มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกีบสิ่งที่ควรทำในอนาคตจากข้อสรุปของคุณหรือไม่

✔️คุณได้สรุปกระบวนการวิจัยที่ได้ทำมาทั้งหมดไว้ในบทนี้หรือไม่

✔️จุดแข็งและข้อจำกัดของการวิจัยของคุณคืออะไร

✔️การศึกษาวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ (1) อะไรคือสิ่งที่การวิจัยของคุณยังไม่มีคำตอบ อันเนื่องจากข้อมูลของคุณมีจำกัด และถ้าจะตอบสิ่งนั้นให้ได้จะต้องมีข้อมูลเรื่องอะไรบ้าง และ (2) อะไรคือประเด็นการวิจัยใหม่ๆ ที่น่าจะทำต่อเนื่องไปจากผลการศึกษาของคุณ

บทนี้ไม่ควรเขียนยาว คล้ายบทคัดย่อแต่ให้รายละเอียดมากกว่า

8. ภาคผนวก (Appendix) – ข้อมูลที่ผู้อ่านควรรู้แต่ไม่จำเป็นหรือสำคัญมากพอ ที่จะรวมอยู่ในส่วนของเนื้อหา อาจเป็นแนวคำถามในการสัมภาษณ์หรืออภิปรายกลุ่ม แบบสอบถาม ตารางข้อมูลบางเรื่อง

– เอกสารทั้งหมดที่อ้างอิงในตัวรายงานจะต้องรวบรวมไว้ภายใต้หัวข้อ “เอกสารอ้างอิง” ในงานเขียนทางสังคมศาสตร์ มีรูปแบบอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานและใช้กันแพร่หลายอยู่ 3 แบบ ในจำนวนนี้ 2 แบบ พัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัย Harvard และ American Psychology Association (APA) และ พัฒนาที่มหาวิทยาลัย Leicester ในประเทศอังกฤษ เรียกว่า Footnote โปรแกรมที่นิยมกันอย่างมากอย่างหนึ่งคือ Endnote

ถ้าจะเขียนให้คนอ่านเข้าใจ คุณต้องก้าวข้ามกับดักความเป็นนักวิชาการของคุณให้ได้ก่อน ควรตระหนักอยู่เสมอว่าคุณจะต้อง เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช่เพื่อมุ่งสร้างความรู้สึกประทับใจให้ผู้อ่าน (write to express, not to impress)

ที่มา: ศาสตร์และศิลป์ การวิจัยเชิงคุณภาพ คู่มือนักศึกษาและนักวิจัยสังคมศาสตร์ ชาย โพธิสิตา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.