การวิจัยทางสังคมศาสตร์

ในทางสังคมศาสตร์ มีแนวทางการทำวิจัยที่สำคัญ 2 แนวทาง คือ แนวทางเชิงคุณภาพ กับ แนวทางเชิงปริมาณ โดยทั้ง 2 แนวทาง มีความแตกต่างกันใน 5 ด้าน ต่อไปนี้

1. การออกแบบ

ไม่ว่าจะเป็นวิจัยแบบไหน สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนออกแบบไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ คือ (1) คำถามการวิจัย (2) เป้าหมายและวัตถุประสงค์การวิจัย (3) กรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย (4) วิธีที่จะใช้ในการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล และ (5) ประเด็นเกี่ยวกับความถูกต้องและน่าเชื่อถือของผลวิจัย การวิจัยเชิงคุณภาพ ทุกอย่างที่กำหนดไว้ในการออกแบบสามารถยืดหยุ่นได้ แต่สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ การดำเนินการวิจัยต้องยึดตามที่ได้ออกแบบเอาไว้แล้วอย่างเคร่งครัด การยืดหยุ่นอาจกระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลและผลการวิจัย

2. ข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูล

แม้ว่าในหลักการแล้ว การวิจัยเชิงคุณภาพสามารถใช้ข้อมูลได้ทุกชนิด ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ แต่ส่วนใหญ่แล้วใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลัก ขณะที่การวิจัยเชิงปริมาณใช้เฉพาะข้อมูลที่เป็นตัวเลข (เชิงปริมาณ) เท่านั้น ข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเลข ต้องแปลงให้เป็นตัวเลขก่อนจึงจะนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติได้ สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลมีหลายวิธี โดยเฉพาะ คือ การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก และการอภิปรายกลุ่ม วิธีเหล่านี้ไม่มีโครงสร้างที่เคร่งครัด ต่างกับวิธีที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งเน้นโครงสร้างของเครื่องมืออย่างเคร่งครัดนั่นหมายความว่า เครื่องมือเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (แบบสอบถาม) ต้องสร้างให้ได้มาตรฐานเดียวกันสำหรับผู้ตอบทุกคน

3. กลุ่มตัวอย่างและวิธีเลือกตัวอย่างในการวิจัย

การวิจัยเชิงคุณภาพเลือกตัวอย่างในการศึกษาด้วยวิธีการเจาะจง (purposive sampling) เพื่อเฟ้นให้ได้ตัวอย่างที่สามารถให้ข้อมูลที่ดีและเหมาะกับประเด็นที่ทำการวิจัย สิ่งที่การวิจัยเชิงคุณภาพเน้นไม่ใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่าง แต่เป็นการได้ข้อมูลเชิงลึกที่มห้ความเข้าใจปรากฎการณ์ที่ศึกษาแบบองค์รวม จากตัวอย่างที่เลือกมาแบบพิถีพิถันมากกว่าการวิจัยเชิงปริมาณที่เลือกกลุ่มตัวอย่างมาด้วยวิธีสุ่มโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น (probability random sampling) จุดมุ่งหมายคือ เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรที่เป็นเป้าหมายการวิจัย

4. การวิเคราะห์ข้อมูล

สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ปฏิบัติกันทั่วไปคือการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) การวิเคราะห์เนื้อหาคือการกลั่นเอาสาระ หรือเนื้อหาสำคัญจากข้อมูลดิบ ที่อยู่ในรูปของการพรรณนาหรือเรื่องเล่า ซึ่งนักวิจัยรวบรวมมาจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม หัวใจสำคัญของวิธีการดังกล่าวอยู่ที่การตีความข้อมูล บนพื้นฐานของความมีเหตุผลเชิงตรรกะ แต่สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณเครื่องมมืมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ วิธีทางสถิติ

5. การนำผลการวิจัยไปใช้

การวิจัยเชิงคุณภาพมุ่งหาความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ศึกษาภายในบริบทของปรากฏการณ์นั้นเป็นหลัก ดังนั้น การที่จะนำเอาผลการวิจัยเชิงคุณภาพไปใช้กับประชาชนทั่วไปอาจทำได้ภายในเงื่อนไขที่จำกัด ก่อนนำผลวิจัยไปใช้ควรคำนึงว่า ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยกับประชากรเป้าหมายที่จะนำผลวิจัยไปใช้ มีลักษณะสำคัญร่วมกันหรือไม่ ส่วนผลการวิจัยเชิงปริมาณ โดยหลักสามารถนำไปใช้ทั่วไป แต่จะใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับความเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย

ที่มา: ศาสตร์และศิลป์ การวิจัยเชิงคุณภาพ คู่มือนักศึกษาและนักวิจัยสังคมศาสตร์ ชาย โพธิสิตา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งที่ 9 กรกฎาคม 2564

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.