ความเป็นเชิงคุณภาพและความเป็นเชิงปริมาณของวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์นั้น เป็นคุณสมบัติที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่จนแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ในวิธีเดียวกันมีทั้งคุณสมบัติที่เป็นเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในวิธีการที่เรียกว่าเชิงคุณภาพนั้น มีคุณสมบัติที่เป็นเชิงปริมาณแฝงอยู่ด้วย ในทำนองเดียวกัน ในวิธีการที่เป็นเชิงปริมาณ ก็มีคุณสมบัติที่เป็นเชิงคุณภาพปนอยู่ด้วยเหมือนกัน
การที่จะจัดว่าการวิจัยใดเป็นเชิงคุณภาพหรือไม่เป็น ไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนั้น “เป็นตัวเลข” หรือ “ไม่เป็นตัวเลข” และถูกเก็บมาอย่างไร เท่านั้น แต่อยู่ที่ว่า นักวิจัยใช้ข้อมูลที่ได้นั้นมาอย่างไรด้วย ถ้าใช้โดยนับจำนวนเป็นสถิติโดยมุ่งการอนุมาน (inference) จากตัวเลข การวิจัยนั้นมีคุณสมบัติเชิงปริมาณมากกว่า ถ้าใช้โดยตีความหมาย (interpretation) ก็มีคุณสมบัติเป็นเชิงคุณภาพมากกว่า การวิจัยทุกชนิดล้วนมีส่วนเป็นเชิงคุณภาพอยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น ถึงแม้จะไม่ได้ทำเชิงคุณภาพเลยก็ตาม การแบ่งแยกระหว่างเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณนั้นมีประโยชน์น้อย และค่อนข้างจะเป็นอันตรายด้วยซ้ำ
แนวคิดที่รองรับวิธีดำเนินการวิจัย คือ เรื่องความเชื่อหรือมุมมองเกี่ยวกับความจริง (reality) และการแสวงหาความจริง เรื่องนี้เป็นประเด็นทางปรัชญาที่เรียกว่า ภววิทยา (ontology) และญาณวิทยา (epistemology)
ภววิทยา เป็นเรื่องทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติของความจริง มีทัศนะ 2 แบบ ที่มีผลทำให้วิธีปฏิบัติในการวิจัยแตกต่างกัน ทัศนะหนึ่งเห็นว่า ความจริง (ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาวิเคราะห์) มีธรรมชาติเป็น ภววิสัย (objective) คือมีอยู่หรือดำรงอยู่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับสิ่งอื่นภายนอกตัวมัน แนวทางปฏิบัติในการแสวงหาความจริง ต้องเน้นใช้เครื่องมือและวิธีการที่จะคงความเป็นภววิสัยของข้อมูลไว้อย่างดีที่สุด อีกทัศนะหนึ่งเห็นว่า ความจริง ไม่ได้มีอยู่เป็นอยู่โดยอิสระ แต่ขึ้นกับคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันและบริบทที่มันดำรงอยู่ ความจริงอย่างนี้มีคุณสมบัติเป็น อัตวิสัย (subjective) แนวทางปฏิบัติต้องเน้นการเข้าถึงความจริงในทัศนะของผู้ให้ข้อมูลเป็นสำคัญ เพราะเหตุนี้เอง ความจริงอย่างเดียวกันจึงอาจจะปรากฏให้เห็นไม่เหมือนกัน ในสายตาของคนสองคนที่มีภูมิหลังต่างกัน
ส่วน ญาณวิทยา เป็นเรื่องของมุมมองเกี่ยวกับการแสวงหาความจริงว่าควรจะทำอย่างไร นักวิจัยผู้แสวงหาความจริง (ข้อมูล) กับคนที่เป็นแหล่งของความจริง (ที่เราเรียกว่า แหล่งข้อมูล) ควรมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และความสัมพันธ์นั้นควรเป็นอย่างไร ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ ญาณวิทยาจะถามคำถามว่า ความรู้ (ที่เราได้มาจากการทำวิจัย) เป็นสิ่งที่เป็นสากล คือ ถูกต้อง เป็นจริง และใช้ได้ทั่วไป ไม่เลือกเวลาและสถานที่ หรือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นจริง และใช้ได้เฉพาะที่ เฉพาะสังคม หรือเฉพาะบริบทเท่านั้น
ในแง่การทำวิจัย เครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิธีที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล สะท้อนทัศนะทางภววิทยาและญาณวิทยาโดยตรง
มาถึงวันนี้ เริ่มมีกระแสที่ผสมผสานเอาทั้งวิธีการเชิงปริมาณและวิธีการเชิงคุณภาพเข้าด้วยกันในงานวิจัย ในการทำวิจัยเชิงคุณภาพนั้นได้ก้าวหน้าไปมาก นอกจากจะมีความหลากหลายในรูปแบบการทำวิจัยแล้ว ประเภทของข้อมูลที่นักวิจัยใช้ก็มีหลายแบบ จนแทบไม่มีขีดจำกัด วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลก็พัฒนาไปมาก เฉพาะอย่างยิ่งในทิศทางที่จะทำให้กระบวนการวิเคราะห์มีโครงสร้าง เป็นระบบ โปร่งใส และสามารถนำไปทำซ้ำได้ พัฒนาการสำคัญล่าสุดคือการนำเอาคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาการเหล่านี้ทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพที่ปฏิบัติกันในวันนี้ ต่างจากที่นักวิจัยในอดีตทำกันมาเป็นอย่างมาก
ที่มา: ศาสตร์และศิลป์ การวิจัยเชิงคุณภาพ คู่มือนักศึกษาและนักวิจัยสังคมศาสตร์ ชาย โพธิสิตา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งที่ 9 กรกฎาคม 2564