บทความวิชาการทั้งบทความวิจัยและบทความปริทัศน์ที่เขียนเสร็จแล้ว ต้องเผยแพร่ไปยังผู้อ่าน ให้ได้ประโยชน์โดยเร็วที่สุดและมากที่สุด ต้องพิจารณาเลือกสื่อที่น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพที่สุด และเกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ไม่ควรเผยแพร่ซ้ำ
ประเภทของสื่อสำหรับการเผยแพร่บทความ
1. สื่อบุคคล โดยนักวิจัยหรือเจ้าของบทความวิจัยขึ้นนำเสนอผลงานวิจัยหรือบทความวิจัยในที่ประชุมสัมมนาวิชาการ ตลอดจนการบรรยายในที่ชุมชนทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์
2. สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อสารมวลชน เช่นนิตยสารหรือวารสารวิชาการประมวลเอกสารการประชุม หนังสือพิมพ์
3. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นสื่อสารมวลชนอีกประเภทหนึ่ง เช่น วารสารอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์
4. สื่อโปสเตอร์ เป็นการเผยแพร่บทความวิชาการโดยการจัดนิทรรศการ การจัดทำโปสเตอร์แสดงผลงาน
การเผยแพร่บทความวิชาการโดยใช้สื่อทั้ง 4 ประเภทดังกล่าว ควรจะเลือกใช้หรือบูรณาการกันอย่างเหมาะสม ให้สามารถเผยแพร่ได้กว้างไกลและเสียค่าใช้จ่ายน้อย
การเผยแพร่บทความวิชาการซ้ำซ้อน
เป็นการนำบทความวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปลงตีพิมพ์ในสื่ออื่นๆ มากกว่า 1 ครั้ง จะเกิดความเสียหายต่อเจ้าของบทความ ดังต่อไปนี้
1. การละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (violate copyright) ในการ ห้ามทำซ้ำ เผยแพร่…
2. การเกิดความสับสน (confusion) การที่บทความเรื่องเดียวกันลงตีพิมพ์หลายวารสารย่อมทำให้การจัดระบบทำเนียบหรือรายชื่อบทความสับสน
3. การเข้าใจผิดในข้อมูล การตีพิมพ์บทความเดียวกันในหลายวารสารอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยคนละเรื่องทั้งที่เป็นการวิจัยเรื่องเดียวกัน เพียงแต่นำไปตีพิมพ์หลายวารสาร
4. ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ (credit) เช่น 4.1 การเสนอผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ – หากตีพิมพ์บทความเรื่องเดียวกันถึง 2 วารสาร คณะกรรมการประเมินผลงานจึงไม่พิจารณาบทความนั้น 4.2 ค่าตอบแทน – บางสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้อาจารย์เขียนบทความวิชาการเผยแพร่ เพราะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสถาบันการศึกษา จึงมีการพิจารณาให้ค่าตอบแทน 4.3 การให้รางวัล – หากเผยแพร่ซ้ำซ้อนแล้วจะพลาดการได้รับพิจารณา
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว การทำวิจัยและศึกษาค้นคว้าสำเร็จแล้ว แต่ไม่ได้เขียนบทความเผยแพร่สู่สังคมก็เปล่าประโยชน์ แต่ต้องไม่เผยแพร่ซ้ำซ้อนกันหลายที่
การเผยแพร่บทความวิชาการในวารสาร
วารสารวิชาการ (scholarly journal, academic journal) คือวารสารที่มีเนื้อหาเป็นวิทยาศาสตร์ มีการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในวงการและไม่ลำเอียง มีการออกตามกำหนดที่แน่นอน ส่วนใหญ่แล้ววารสารวิชาการจะผูกติดกับสถาบันอุดมศึกษา วารสารวิชาการ มี 2 รูปแบบ คือวารสารฉบับพิมพ์ และ วารสารอิเล็กทรอนิกส์
วารสารฉบับพิมพ์ (printed journal) ต้องได้รับการรับรองจากองค์กรที่กำกับควบคุม โดยเฉพาะวารสารวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทยต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และอยู่ในฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีอ้างอิงวารสารไทย ส่วนวารสารวิชาการนานาชาติต้องมีคุณภาพ มีดัชนีการอ้างอิงวารสารสูง
วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (electronics journal) เผยแพร่ได้ไวและไปได้ไกลกว่าในช่วงเวลาเดียว ผู้ใช้สามารถติดตามอ่านวารสารได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดงบประมาณและสถานที่จัดเก็บ สะดวกต่อการบอกรับการเป็นสมาชิกของห้องสมุด ยังมีการพัฒนาวารสารไทยในระบบออนไลน์ (Thai-Journal Online – Thai-JO) โดยมีการตีพิมพ์วารสารวิชาการในรูปแบบระบบปิด (Open Jounal Sustem, OJS) อันจะทำให้วารสารอิเล็กทรอนิกส์มีความเข้มแข็งและให้บริการครอบคฃุมผู้อ่านที่กว้างไกลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วารสารอิเล็กทรอนิกส์อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น สิทธิในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ชัดเจน
การเผยแพร่บทความวิชาการในประมวลเอกสารการประชุม
ในแต่ละรอบปี มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ มักจะจัดประชุมวิชาการ (academic conference) ระดับชาติและระดับนานาชาติ ให้มีการพบปะกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาชีพในสาขาเดียวกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น และความร่วมมือ รวมถึงมีการนำเสนอผลการศึกษา และการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ ในที่ประชุม
ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการ ที่เสนอผลการค้นคว้าวิจัยจะต้องเขียนบทความฉบับสมบูรณ์ (full paper) ประกอบการนำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยด้วยวาจาหรือแบบปากเปล่าในที่ประชุม (oral presentation)
การพูดการเผยแพร่บทความวิชาการในประมวลเอกสารประกอบการประชุม ควรได้ศึกษาเรื่องบทความวิชาการและประมวลเอกสารประกอบการประชุม ดังต่อไปนี้
เรื่องบทความวิชาการ
การเขียนบทความวิชาการประกอบการประชุม เมื่อตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์เหมือนกับบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร อาทิ การเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้น จึงควรเขียนบทความให้ครอบคลุมเนื้อหาที่สมบูรณ์ที่สุดหรือเท่าที่บรรณาธิการกำหนดจำนวนหน้าไว้ให้พอที่จะขอกำหนดตำแหน่งวิชาการได้ การตีพิมพ์เผยแพร่บทความนั้นสามารถกระทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าเขียนบทความครั้งนี้ไม่สมบูรณ์ จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารอื่นอีกไม่ได้ เพราะถือเป็นการเผยแพร่ซ้ำซ้อนตามที่กล่าวมาแล้ว
ประมวลเอกสารประกอบการประชุม
ประมวลเอกสารประกอบการประชุม หรือ รายงานการประชุมสัมมนา (proceedings/ conference proceedings) Proceedings เป็นเอกสารตีพิมพ์ในการประชุมหรือเป็นรายงานการประชุมที่เปยแพร่ในรูปเล่ม ดำเนินการตีพิมพ์ผลงานฉบับสมบูรณ์ซึ่งจะพิมพ์เผยแพร่บทความในการประชุมแต่ละครั้ง ไม่ได้ออกต่อเนื่องตามกำหนดเวลาที่แน่นอน
การเผยแพร่บทความใน proceedings บรรณาธิการต้องทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ จัดผู้ทรงคุณวุฒิประเมินและกรั่นกรองบทความ หรือ Peer Reviewer ที่ตรงกับสาขาวิชาของบทความ
ในกรณีที่เจ้าของบทความจะไปนำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยระดับนานาชาติในต่างประเทศ จะต้องเตรียมบทความในภาคภาษาอังกฤษตามแบบฟอร์มของผู้จัดการประชุมวิชาการอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อมีการเชิญและขอให้ส่งบทความ (call for paper) ก็ต้องส่งต้นฉบับบทความ (manuscript submission) ตามกำหนด ถ้าหากต้องการทุนสนับสนุนในการไปนำเสนอผลงานและค่าตีพิมพ์ (ถ้ามี) ก็ต้องรีบดำเนินการแต่เนิ่นๆ
บทความที่จะเผยแพร่ต้องมีแนวการเขียน องค์ประกอบ และผ่านการประเมินกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิเช่นเดียวกับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
ที่มา: คู่มือการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ โดย ศ. ดร. สิน พันธุ์พินิจ