ทฤษฎีและวิธีวิทยา

ทฤษฎีและวิธีวิทยา หมายถึง กรอบการศึกษาที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาสังคม-วัฒนธรรม

ทฤษฎี (Theory) หมายถึง ภาพร่างของสังคม-วัฒนธรรมที่มีร่วมกันในหลายๆ ถิ่นฐานทั่วโลก ที่สามารถใช้สำหรับการตีความ/วิเคราะห์/อธิบายสังคม-วัฒนธรรม

วิธีวิทยา (Methodology) หมายถึง การประกอบกันของวิธีการต่างๆ เพื่อใช้สำหรับศึกษาสังคม-วัฒนธรรม

นักมานุษยวิทยาเห็นเค้าโครงของสังคม-วัฒนธรรมอย่างไร ก็มักจะมีแนวทางในการเข้าถึงหรือศึกษาสังคม-วัฒนธรรมในแบบที่สอดคล้องกัน

เราจำเป็นต้องมีทฤษฎีและกรอบของวิธีวิทยา ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

ประการแรก อย่างพื้นฐานที่สุด การประยุกต์ใช้ทฤษฎีและวิธีวิทยาที่เคยใช้ที่อื่น เรื่องอื่น มาใช้กับสนามและเรื่องที่เราสนใจศึกษาอยู่ แต่ในระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้นทฤษฎีและวิธีวิทยามีไว้ให้ตรวจสอบและปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ทฤษฎีและวิธีวิทยาเป็นเค้าโครงคร่าวๆ ที่เอาไว้หาข้อผิดพลาดแล้วปรับปรุงใหม่หรือกระทั่งล้มล้างไปในที่สุด การต่อยอดความรู้ที่สำคัญคือการต่อยอดความรู้ในระดับของทฤษฎีและวิธีวิทยา

ประการที่สอง ทฤษฎีและวิธีวิทยาเป็นแนวทางให้ผู้ศึกษาได้เห็นเค้าโครงความคิดและกรอบการทำงานของงานวิจัย นั่นหมายถึง การที่ผู้วิจัยเองจะได้รู้เงื่อนไข รากฐาน ข้อได้เปรียบ และที่สำคัญคือ ข้อจำกัดของการศึกษาของตนเอง ส่วนผู้อ่านก็จะได้ประเมินงานเขียนนั้นจากพื้นฐานที่รับรู้กันชัดเจนว่ามีข้อเด่นข้อด้อยอย่างไร การเข้าไปยัง “สนาม” ที่ไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาแบบไหนจะเหมาะกับการศึกษาอะไรที่พบเจอบ้าง การตระเตรียมทางทฤษฎีและวิธีวิทยาให้หลากหลายไว้ก่อนจึงเป็นความจำเป็น และเห็นข้อจำกัดของแนวทฤษฎีและวิธีวิทยาต่างๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย รวมถึงข้อถกเถียงในระดับรากฐานทางปรัชญา

ประการที่สาม หน้าที่สำคัญของทฤษฎีและวิธีวิทยา อีกประการหนึ่ง คือการสร้างการเปรียบเทียบ จากสิ่งหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ติดพื้นที่ ติดเวลา ติดสาขาวิชา ไปสู่สิ่งที่ข้ามความเฉพาะเจาะจงได้

ในแง่ของการข้ามประเด็น เช่น การศึกษาความเชื่อพื้นบ้านเรื่อง “ขวัญ” ของชาวไตในเวียดนาม สามารถสร้างข้อถกเถียงข้ามประเด็นจากเรื่องขวัญไปแลกเปลี่ยนสนทนากับเรื่อง “วิญญาณ” ได้ อาจจะผ่านแนวคิดเรื่องอัตภาวะ (subjectivity) หรือภาวะบุคคล (personhood)

การเปรียบเทียบข้ามพื้นที่และเวลาอาจนับได้ว่ามีลักษณะเดียวกัน เช่น เราสามารถเปรียบเทียบระบบวรรณะในเอเชียใต้กับระบบศักดินาในยุโรปหรือเอเชียได้ ผ่านมโนทัศน์หรือกลุ่มทฤษฎีที่ศึกษาชนชั้น

ส่วนการเปรียบเทียบข้ามสาขาวิชาและศาสตร์ความรู้นั้น จะเห็นได้ชัดหากสร้างการสนทนากันผ่านแนวทฤษฎีและวิธีวิทยาที่ใช้กันในหลายสาขาวิชา เช่น การวิเคราะห์ปฏิบัติการวาทกรรม (discursive practice) ของมิเชล ฟูโกต์ ที่ใช้ศึกษากันทั้งในสาขาประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันข้ามสาขาวิชาได้

หากมานุษยวิทยาคือการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural studies) การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ (comparative studies) ที่ทั้งข้ามประเด็น ข้ามพื้นที่ ข้ามเวลา และข้ามสาขาวิชา ก็จึงเป็นสิ่งจำเป็นและขยายคุณปการของมานุษยวิทยาให้ยิ่งขึ้นไปอีก

งานทางทฤษฎีที่ดีต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการวิจัยมาสร้างข้อถกเถียง ไม่ใช่เพียงสร้างข้อถกเถียงจากความเป็นนามธรรมของแนวคิดเองเพียงเท่านั้น

ที่มา: ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2564. วิวาทะมานุษยวิทยา: วิถีทฤษฎีและวิธีวิทยา. สำนักพิมพ์ศยาม.

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.