สังคมวิทยาการแพทย์

พัฒนาการของแนวคิดทฤษฎี

ยุคแรก (ศตวรรษที่ 1909- ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1)

นักสังคมวิทยาคนสำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ Karl Marx (1888-1883) และ Friedrich Engles (1820 – 1895) โดยงานเขียนที่สำคัญมีประเด็นเชื่อมโยงกับมิติสุขภาพ ได้แก่ งานที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพกับชนชั้นทางสังคม ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโรคภัยไข้เจ็บที่พบมากในชนชั้นแรงงานของอังกฤษกับลัทธิทุนนิยม นอกจากนี้ ยังมี Emile Durkheim (1897, 1951) ที่วิเคราะห์พฤติกรรมการฆ่าตัวตายของชาวยุโรปในช่วงปลาย ค.ศ. 1897 ในงานชื่อ Suicide และงานของ Max Weber ที่นำทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมวิทยามาใช้ศึกษาโครงสร้างขององค์กรเพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ (Abel and Frohlich, 2012)

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 – ศตวรรษที่ 20

ในช่วงเวลานี้ ได้มีการผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ อำนาจ และสุขภาพ กับวัฒนธรรมการเมืองสุขภาพขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (Goulder, 1970)

Parson (1952) เป็นนักสังคมวิทยาในยุคแรกๆ ที่เริ่มกล่าวถึงมิติด้านความรู้ อำนาจ และสุขภาพ โดยเสนอว่า สังคมได้ลงทุนกับแพทย์ในรูปของการควบคุมทางสังคม (Social Control) ซึ่งทำให้บทบาทของแพทย์มีความคล้ายคลึงกับบทบาทของพระหรือนักบวช เพราะเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมเบี่ยงเบนของบุคคล ได้แก่ พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกในรูปของบทบาททางสังคมเมื่อเจ็บป่วย (Illness) ดังนั้น ธรรมชาติที่ไม่พึงปรารถนาของการเจ็บป่วยจึงเป็นตัวเสริมแรงและเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของบุคคล (William, 2005) และเชื่อมโยงกับความคิดของนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ อาทิ แนวคิดของ Emile Durkheim (1858 – 1917) และ Max Weber (1864 – 1920) โดยกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของแพทย์ในการควบคุมระบบสังคมที่มีขนาดใหญ่ จึงกล่าวได้ว่า Parson คือนักสังคมวิทยาคนสำคัญ ผู้ริเริ่มเสนอการนำแนวคิดด้านสังคมวิทยา มาใช้วิเคราะห์สภาพการเจ็บป่วย (Freidson, 1970)

นอกจากนี้ Erving Goffman (1922 – 1982) นักสังคมวิทยาชาวแคนาเดียน ได้เสนอแนวคิดการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ซึ่งผลการสำรวจของหนังสือ The Times Higher Education ครั้งที่ 6 ใน ค.ศ. 2007 ระบุว่าเป็นนักคิดที่ถูกกล่าวอ้างถึงมากที่สุดในโลก รองจาก Anthony Giddens และ Jurgen Habermas (The Times Higher Education, 2007)

ประเด็นโต้แย้งที่สำคัญประการหนึ่งที่กลุ่มนักสังคมวิทยาการแพทย์ที่ใช้กระบวนทัศน์ทางเลือกและระเบียบวิธีแบบ “Non-positivism” ในสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ ได้แก่ การไม่สามารถเสนอทางออกหรือมีข้อเสนอแนะเพื่อการนำผลวิจัยที่ค้นพบไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ยุคศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001 – ปัจจุบัน)

นักสังคมวิทยาการแพทย์ ทั้งใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย จัดเป็นกลุ่มนักสังคมวิทยากลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ที่ผลิตผลงานวิจัยและปฏิบัติงานทางวิชาชีพอย่างเข้มแข็งที่สุด เป็นรูปธรรมที่สุด ทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย องค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาการแพทย์มีการเติบโตและมีพัฒนาการต่อเนื่องมาตามลำดับ อนาคตของศาสตร์ด้านสังคมวิทยาการแพทย์มีความสดใส

องค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาการแพทย์

องค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาการแพทย์ในประเทศไทยยังคงมีความก้าวหน้าน้อยมาก โดยสามารถจำแนกกลุ่มองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

1) องค์ความรู้ด้านวิธีวิทยา

ประกอบด้วยผลงานวิจัย ตำรับตำราและเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิทยาเทคนิคการทำงานภาคสนาม การวิจัย และวิธีการทำงานในขอบเขตของสังคมวิทยาการแพทย์ อาทิ งานเขียนเรื่อง การศึกษาเชิงคุณภาพ: เทคนิคการวิจัยภาคสนาม (เบญจา ยอดดำเนิน แอตติกจ์, บุปผา ศิริรัศมี และวาทินี บุญชะลักษี, 2531)

2) องค์ความรู้ด้านสังคมอำนาจและสุขภาพ

ประกอบไปด้วยผลงานวิชาการ งานวิจัย ตำรา และบทความทางวิชาการ อาทิ แบบวิถีอำนาจ: ข้อคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในสังคมไทย (เกษียร เตชะพีระ, 2540)

3) องค์ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพ ชุมชน และวิถีชีวิต

ประกอบด้วยรายงานการวิจัย หนังสือ ตำรา และสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ที่กล่าวถึงแนวคิดเรื่องความเจ็บป่วยและการจัดการกับสุขภาพในมิติสุขภาพ พฤติกรรมการดูแลและรักษาสุขภาพ เช่น แนวคิดไทยเรื่องการเจ็บป่วย (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2535)

4) องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ

ประกอบด้วยผลการศึกษาวิจัย ตำราและเอกสารทางวิชาการที่ใช้ระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลต่อนโยบายสุขภาพ และระบบสุขภาพของประเทศไทย อาทิ บันทึกเวชกรรมไทย (ประเวศ วะสี, 2536)

ในปัจจุบัน การมองปัญหาด้านสุขภาพของสังคมไทย ยังคงจำกัดอยู่ภายใต้วาทกรรมสุขภาพแบบชีวะการแพทย์ ผลงานวิจัยในประเด็นสำคัญที่ยังถูกละเลย ได้แก่ กระแสการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่อยู่ในรูปของการเชื่อมโยงของชนชั้นนำในสังคม ปัญญาชนผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และการครองอำนาจนำในการควบคุมจัดการนโยบายและทรัพยากรด้านสุขภาพ การกำหนดทิศทางวัฒนธรรมการเมืองด้านสุขภาพ ตลอดจนการประกอบสร้างวาทกรรมด้านสุขภาพ

ประเภทและขอบเขต

Robert Straus (1957) นักสังคมวิทยาการแพทย์ผู้มีชื่อเสียง เสนอให้จำแนกสังคมวิทยาการแพทย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) สังคมวิทยาในการแพทย์ (Sociology in Medicine) และ 2) สังคมวิทยาของการแพทย์ (Sociology of Medicine)

1) สังคมวิทยาในการแพทย์ (Sociology in Medicine)

สนใจศึกษาปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติทางด้านสุขภาพ มุ่งวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่นำไปสู่การแก้ไข ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ จากทัศนะที่ว่าปัญหาสุขภาพเป็นประเด็นสาธารณะ ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กร ตลอดจนสถาบันทางสังคมที่รับผิดชอบทางด้านสุขภาพจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเท่านั้น นักสังคมวิทยาในการแพทย์ประกอบด้วยผู้ที่ร่วมมือโดยตรงกับแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพอื่นๆ ศึกษาปัจจัยทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาด้านสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ มีเป้าหมายเพื่อประยุกต์หลักแนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา ในการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมสุขภาพ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข โดยจำแนกงานวิจัยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ งานวิจัยประยุกต์ (Applied Research) และการศึกษาเพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจที่มีรากฐานมาจากปัญหาทางการแพทย์ มากกว่าปัญหาด้านสังคมวิทยา

2) สังคมวิทยาของการแพทย์ (Sociology of Medicine)

สนใจศึกษาปัจจัยด้านองค์กร บทบาท ความสัมพันธ์ บรรทัดฐาน ค่านิยม และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางการแพทย์ ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมสุขภาพของมนุษย์ สนใจกระบวนการทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับการก่อตัวทางการแพทย์ และทำความเข้าใจกับวิถีการดำเนินชีวิตทางสังคมของผู้แสดงทางสังคมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นักสังคมวิทยาของการแพทย์ ประกอบด้วยผู้ที่มีความสนใจในการทำวิจัย และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางการแพทย์ในแง่มุมต่างๆ โดยใช้มุมมองหรือมโนทัศน์ของนักสังคมวิทยา ในขณะเดียวกัน เป็นผู้ที่มีทักษะในการแบ่งปันเป้าหมายเชิงแนวคิดกับนักสังคมวิทยาในสาขาอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงการศึกษาวิจัย และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางสังคมในบรรยากาศของการปฏิบัติงานทางการแพทย์

การจำแนกประเภทของสังคมวิทยาการแพทย์ในลักษณะดังกล่าวของ Straus (1957) ใช้บริบททางสังคมของสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นฐานของการศึกษา โดยไม่ขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขวาง และบ่อยครั้งที่นักสังคมวิทยาในการแพทย์และนักสังคมวิทยาของการแพทย์มีขอบเขตความสนใจและการทำงานที่ทับซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม การจำแนกขอบเขตของสังคมวิทยาการแพทย์ในทัศนะของ Straus (1957) ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสนอมุมมองด้านขอบเขตของการศึกษาทางด้านสังคมวิทยาการแพทย์ นอกจากนี้ เขายังเสนอประเด็นสำคัญด้านข้อจำกัดของกลุ่มงานวิจัยด้านสังคมวิทยาการแพทย์ทั้ง 2 ประเภทไว้เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาด้านญาณวิทยา ดังมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ข้อจำกัดด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติด้านสุขภาพและผู้กำหนดนโยบายที่พบว่ายังมีทิศทางที่ถูกครอบงำ โดยกระทำผ่านกรอบการสนับสนุนและความสนใจขององค์กรภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงสนใจศึกษาวิจัยในขอบเขตของชีวะการแพทย์

2. ข้อจำกัดด้านการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และแนวคิดทฤษฎีด้านสังคมวิทยาการแพทย์

3. ข้อจำกัดด้านความร่วมมือ ระหว่างนักสังคมวิทยาการแพทย์ กับนักสังคมวิทยาในสาขาอื่นๆ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในลักษณะของสหวิทยาการ

ที่มา: พัชรินทร์ สิรสุนทร. 2558. ความรู้ อำนาจ และสุขภาพ จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.