5 กิจการเพื่อสังคมดีเด่นสนับสนุนโดยบ้านปู

นับเป็นปีที่ 6 แล้วที บ้านปูฯ ผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าในเอเชีย ได้จัดทำโครงการ Banpu Champions for Change หรือ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม และในวันที่ 13 กันยายน 2559 ก็ได้เผยโฉม 5 กิจการดีเด่นที่ฟ่าฟันการเคี่ยวกรำจากกูรูตัวจริง ที่ทางโครงการฯ ได้เรียนเชิญมาเพื่อแนะนำ ติชม โค้ช และให้แง่คิดหลากหลายมุมมอง เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อสังคมให้รัดกุม มีความเป็นไปได้ และยั่งยืน โดยความน่าสนใจของกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ มีความโดดเด่น จนสรุปใจความสำคัญ ตามที่ คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บ้านปูฯ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การเรียนรู้ จะนำไปสู่พลังความเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐ เอกชนและสังคมของเราพูดกันเรื่อง Thailand 4.0 หรือ Marketing 4.0 กันอย่างแพร่หลาย สิ่งที่เราจะได้เห็นมากขึ้นคือ ต่อไปนี้ทุกอย่างจะมี Technology เป็นองค์ประกอบ ประเด็นทางสังคมก็เช่นกัน มีองค์ประกอบของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการแก้ไขปัญหา ในส่วนของปัญหาต่างๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราตระหนักได้ว่า ต่อไปนี้เวลาเราพูดเรื่อง SE (Social Enterprise) เราไม่ได้มองแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยากจน หรือเรื่องที่ไกลตัว แต่ SE สามารถเกิดจากสิ่งใกล้ตัว ประเด็นสังคมที่เป็น Common และสามารถเกิดขึ้นได้จริง”5 กิจการเพื่อสังคมที่พิสูจน์บทสรุปนี้ ว่าการทำธุรกิจสามารถเติบโตและยั่งยืนพร้อมๆ กับการแก้ปัญหา จนกลายเป็นกิจการเพื่อสังคมดีเด่นของ Banpu Champions for Change 6 ประกอบด้วย

1. TP Packaging Solutions ผู้จัดจำหน่ายภาชนะทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดขยะและปลอดภัยต่อสุขภาพ ความโดดเด่นของกิจการนี้ คือ ทำตัวเป็น “Business Solution” ค้นหาต้นตอของปัญหาว่าทำไมผู้บริโภคและผู้ประกอบไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือก แต่ยังคงใช้ “โฟม” เหมือนที่เป็นมา หลังจากค้นพบแล้ว ก็จัดแจงทำให้เกิด Eco-system ทั้งเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย แหล่งเงินทุน การสร้างภาพลักษณ์ ที่กระตุ้นให้การใช้งานผลิตภัณฑ์ทางเลือกเกิดขึ้นได้จริงในสังคม ทำให้นวัตกรรมทดแทนโฟม ซึ่งสังคมไทยรับรู้มานานแล้ว แต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริงสักที ปัจจุบันกิจการนี้เริ่มต้นเข้าถึงสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพเพื่อพูดคุยถึงการกู้เงินพิเศษสำหรับ SME ที่ใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว 

2. Relationflip เว็บไซต์รวบรวมนักจิตวิทยาที่ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ทำให้คนไทยเข้าถึงนักจิตวิทยาได้ง่ายขึ้น ธุรกิจนี้พัฒนาขึ้นมาจากอินไซต์ที่ว่า เมื่อเวลาเราป่วยเราก็ไปหาหมอ แต่ในความเป็นจริงจากการใช้ชีวิตใจสังคมปัจจุบัน ความเจ็บป่วยทางใจเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าการเจ็บป่วยทางกายซะอีก แต่กลับถูกมองข้ามไป ในส่วนของโมเดลธุรกิจ คือ การทำการตลาดผ่านองค์กร เพื่อเป็นสวัสดิการให้พนักงานในบริษัท

3. We Listen แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้ที่มีความเครียด เพื่อระบายความในใจและปัญหา จากปัญหาโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในสังคมมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจนี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายเป็น “ฟิตเนสที่ 2” นอกเหนือจากออกกำลังกายแล้ว ก็มาออกกำลังใจ ธุรกิจนี้จึงสร้างรายได้ด้วยการรับสมาชิก รวมทั้งทำรูปแบบคอร์สอบรม

4. Yellow Hello ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกากถั่วเหลืองครบวงจร คำว่าครบวงจรของ Yellow Hello ต้องบอกว่าครบวงจรจริงๆ เริ่มจากการเลือกใช้ถั่วเหลืองอินทรีย์มาแปรรูปเป็นอาหารและขนมสารพัดอย่างแถมยังเป็นอาหารที่อินเทรนด์เข้ากับกระแสคนรักสุขภาพ ปิดท้ายด้วยการนำบางส่วนไปทำเป็นปุ๋ย ตลอดทั้งต้นของถั่วเหลืองเป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น…ที่สำคัญชิมแล้ว อร่อยจริงด้วย! 

5. The Guidelight ออดิโอบุ๊กสำหรับผู้พิการทางสายตา ปัจจุบันมีคอนเทนท์ที่เป็นวิชาการความรู้ หรือคอนเทนท์เพื่อความบันเทิงเกิดขึ้นมากมาย แต่คอนเทนท์ประเภท How-To ยังมีไม่มากนัก อินไซต์ของกิจการนี้มาจากตัวผู้ก่อตั้งโดยตรง เมื่อคนใกล้ตัวเธอเองสนใจอยากเล่นหุ้น แต่หนังสือเรื่องการลงทุนสำหรับที่มีปัญหาทางสายตากลับไม่มีเลย เธอจึงต้องอ่านแล้วอธิบายด้วยตัวเอง จึงกระตุ้นไอเดียที่ว่า ผู้พิการทางสายตามีความสนใจหลากหลายและต้องการคอนเทนท์เพื่อตอบสนองพวกเขาอีกมาก

โครงการอย่าง Banpu Champions for Change (พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม) จะต้องมีอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปอย่างแน่นอน BrandBuffet จึงถามถึง Criteria ของกิจการที่คณะกรรมการจะเทใจให้ เพื่อเป็นประโยชน์กับกิจการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งต่อๆ ไป ดังนี้

– Problem จับประเด็นให้ได้ว่าปัญหาที่นำมาเล่น เมื่อนำมาขยายเป็น Solution แล้ว ตอบโจทย์ที่ชัดเจนของปัญหานั่นๆ จริง

– Possibility มีความเป็นไปได้จริงที่จะก่อให้เกิดเป็นธุรกิจ มีความยั่งยืน และเมื่อถึงจุดหนึ่งสามารถขยายได้

– Team มี commitment แค่ไหน มุ่งมั่นตั้งใจจริง ลงพื้นที่ หาข้อมูลเพียงใด ที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์อะไรมาบ้าง

ที่มา: http://www.brandbuffet.in.th

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.